การจัดเรียงหนังสือขึ้นชั้น

25520909_km01

การจัดเรียงหนังสือบนชั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญในการค้นหาสารสนเทศที่ต้องการของผู้ใช้บริการ หากมีการจัดเรียงหนังสือ สิ่งพิมพ์ฯ อย่างถูกต้องตามหลักการจัดเรียง การเข้าถึงหนังสือ สิ่งพิมพ์ฯ นั้นๆ จะเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และย่อมสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้บริการอย่างแน่นอน

โดยที่คำนึงถึงความพึงพอใจของผู้ใช้เป็นประการสำคัญ การจัดเรียงหนังสือบนชั้นจึงได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นตัวชี้วัดคุณภาพการบริการตัวหนึ่งของห้องสมุด

หนังสือ สิ่งพิมพ์ฯ ของห้องสมุด มีหลายประเภท ทั้งหนังสือทั่วไป สิ่งพิมพ์รัฐบาล สิ่งพิมพ์มหาวิทยาลัยวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์ แต่ละประเภทมีระบบการจัดหมวดหมู่ที่ต่างกัน ฉะนั้นการจัดเรียงหนังสือ สิ่งพิมพ์จึงต่างกันไปด้วย

ตามหลักการจัดเรียงหนังสือขึ้นชั้นนั้นจะจัดเรียงตามเลขหมู่หนังสือ ซึ่งหนังสือแต่ละเล่มจะมีเลขหมู่ประจำหนังสือที่ไม่ซ้ำกัน เรียกว่าเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละเล่มก็ว่าได้

  1. ในระบบการจัดหมวดหมู่หนังสือตามแบบรัฐสภาอเมริกัน จะประกอบด้วยตัวอักษร A-Z และเลขอารบิค มีเลขประจำผู้แต่งรวมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเลขเรียกหนังสือด้วย เช่น PL4177 ธ2776ในการจัดเรียงหนังสือบนชั้นจะเรียงตามลำดับอักษร A-Z และในแต่ละหมวดใหญ่ จึงจัดเรียงตามอักษรหมวดย่อย เช่น หมวด P จะเรียงมาก่อน PE, PL, PN และในแต่ละหมวดใหญ่/ย่อย จะจัดเรียงตามเลขอารบิค จากเลขน้อยไปหาเลขมาก แล้วจึงเรียงตามอักษร เลขประจำผู้แต่งจากเลขน้อยไปหามาก ดังตัวอย่าง

    PE 31 จัดเรียงมาก่อน PE 65

    ในหมวดหมู่เดียวกันจะจัดเรียงตามอักษร เลขประจำผู้แต่งอีกครั้ง เช่น

    PE31 บ243 จัดเรียงมาก่อน PE31 ร173

    การจัดหมวดหมู่ระบบรัฐสภาอเมริกันนี้ห้องสมุดนำมาใช้จัดหมวดหนังสือทั่วไป หนังสืออ้างอิง และสิ่งพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง

  2. วิทยานิพนธ์ ปริญญานิพนธ์ สารนิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์ มีการจัดหมวดหมู่ในระบบพิเศษ ประกอบด้วย อักษรย่อชื่อสถาบัน เลขประจำผู้แต่ง (เช่น ม.ร. หมายถึง มหาวิทยาลัยรามคำแหง) และเลขปี พ.ศ.ของวิทยานิพนธ์ ดังตัวอย่าง
  3. ม.ร.
    พ1716
    2544

    ในการจัดบริการวิทยานิพนธ์จะจัดแยกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนของมหาวิทยาลัยรามคำแหง และส่วนของมหาวิทยาลัยอื่นๆ (แต่อยู่ภายในห้องบริการวิทยานิพนธ์เดียวกัน) ซึ่งจัดเรียงตามลำดับอักษรย่อชื่อสถาบัน เช่น จฬ มก มช มม มศว ฯลฯการจัดเรียงวิทยานิพนธ์บนชั้นของแต่ละสถาบันจัดเรียงตามปี พ.ศ. จาก พ.ศ.เก่า ไปหาใหม่ ตามด้วยอักษรและเลขประจำผู้เขียนวิทยานิพนธ์ เช่น

    ม.ร.
    พ1716
    2544
    จัดเรียงมาก่อน ม.ร.
    พ2472
    2547
  4. สิ่งพิมพ์รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอิสระ ใช้ระบบการจัดหมวดหมู่ในระบบพิเศษ กล่าวคือ เลขหมู่สิ่งพิมพ์รัฐบาลประกอบด้วย อักษรย่อชื่อส่วนราชการระดับกระทรวง เลขประจำส่วนราชการ เลขประเภทสิ่งพิมพ์ และเลขประจำหนังสือหรือผู้แต่ง ตามลำดับส่วนรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอิสระ เลขหมู่สิ่งพิมพ์ประกอบด้วย อักษรย่อชื่อรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงาน อิสระ เลขประเภทของสิ่งพิมพ์ อักษร เลขประจำหนังสือหรือผู้แต่ง ตามลำดับ เช่น
  5. ศธ
    0306
    7/ ร78257
    (ส่วนราชการกระทรวง)
    กทม
    11/
    ก195
    (หน่วยงานอิสระ)
    กฟน
    8/
    ห95
    (รัฐวิสาหกิจ)

    การจัดเรียงสิ่งพิมพ์บนชั้น สำหรับสิ่งพิมพ์รัฐบาลจัดเรียงตามลำดับอักษรชื่อส่วนราชการระดับกระทรวง ตามด้วยเลขประจำส่วนราชการ เลขประเภทสิ่งพิมพ์เรียงจากเลขน้อยไปหาเลขมาก อักษรและเลขประจำหนังสือหรือเลขประจำผู้แต่ง ตามลำดับ ส่วนสิ่งพิมพ์ของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอิสระ จัดเรียงตามลำดับอักษรชื่อหน่วยงาน ตามด้วยประเภทสิ่งพิมพ์จากเลขน้อยไปหาเลขมาก อักษรและเลขประจำหนังสือหรือเลขประจำผู้แต่ง ตามลำดับ

ในแต่ละวันจะมีการจัดเก็บหนังสือ สิ่งพิมพ์ วิทยานิพนธ์ที่มีผู้หยิบจากชั้นมาใช้ภายในห้องที่จัดให้บริการ รวมกับวิทยานิพนธ์ที่มีผู้ยืมกลับบ้านนำมาส่งคืน และที่นำไปถ่ายเอกสารอีกจำนวนหนึ่ง ดังนั้นเพื่อให้หนังสือ สิ่งพิมพ์ วิทยานิพนธ์พร้อมให้บริการอยู่เสมอ จึงได้มีการกำหนดเวลาในจัด
เก็บสิ่งพิมพ์ ฯ ดังกล่าวในแต่ละวันดังนี้

วันจันทร์-ศุกร์ แบ่งเป็น 4 ช่วงเวลา คือ 08.30-12.00 น. 12.00-13.00 น. 13.00-16.30 น. และ 16.30-18.30 น. ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ แบ่งเป็น 4 ช่วงเวลาเช่นเดียวกัน คือ 09.00-11.15 น. 11.15-13.30 น. 13.30-15.45 น. และ15.45-18.00 น.

ในการจัดเก็บหนังสือ สิ่งพิมพ์โดยเฉพาะวิทยานิพนธ์ที่มีการใช้จำนวนมากนั้น เมื่อรวบรวมวิทยานิพนธ์จากหน่วยบริการยืม-คืน กับที่มีผู้นำมาใช้ภายในห้องบริการ และที่จุดถ่ายเอกสารแล้ว ได้จัดแยกตามชื่อสถาบันก่อนที่จะนำไปสแกนบาร์โค๊ดเพื่อเก็บข้อมูลการใช้วิทยานิพนธ์แต่ละเล่ม และเมื่อสแกนบาร์โค๊ดแล้วได้แยกตามปี พ.ศ.ไว้ เมื่อสแกนทั้งหมดแล้วจึงนำวิทยานิพนธ์ของแต่ละสถาบันที่แยกตามปี พ.ศ.ไว้ มาจัดเรียงตามลำดับอักษร เลขประจำผู้แต่งใส่รถเข็นหนังสือไปที่ชั้นของแต่ละสถาบันเพื่อนำขึ้นชั้น ทำให้การจัดเก็บวิทยานิพนธ์ขึ้นชั้นได้ถูกต้องอย่างรวดเร็ว เพราะไม่ต้องเดินย้อนไปมาในชั้นหนังสือ

ส่วนวิทยานิพนธ์ หนังสือ สิ่งพิมพ์ ที่มีการจัดเก็บผิดที่ต้องจัดเก็บเสียใหม่ให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันการค้นหาไม่พบ

กระทำดังนี้แล้วการบรรลุวัตถุประสงค์คุณภาพ การจัดเรียงหนังสือบนชั้นถูกต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 จึงประสบผลสำเร็จ
ส่วนการค้นหาหนังสือไม่พบ จะเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้น

ฝ่ายอ้างอิง
พรสุข พงศ์วุฒิศักดิ์

Leave a Reply