การสืบค้นด้วยคำสำคัญ

การสืบค้นด้วยคำสำคัญ

                          โดย กลุ่ม คนสืบค้น (ชุมชนBangna variety)

080418clcddo080418clcddo

            การสืบค้นข้อมูลด้วยคำสำคัญ หมายถึง วิธีการต่างๆ ที่ใช้ประกอบในการสร้างประโยค     การค้นหา เพื่อให้ได้สารสนเทศที่ตรงกับความต้องการมากที่สุด
            เทคนิคในการค้นหานั้น สามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบค้นหาพื้นฐานหรืออย่างง่าย (Basic Search) และการค้นหาแบบซับซ้อนหรือขั้นสูง (Advanced Search) (มหาวิทยาลัยขอนแก่น .สำนักวิทยบริการ , 2555: ออนไลน์)
           การสืบค้นด้วยคำสำคัญ  ซึ่งอาจเป็นคำหรือวลีใดๆ ก็ได้ ที่ต้องการสืบค้นข้อมูล อาจเป็นคำที่ปรากฏในส่วนของหัวเรื่อง หรือชื่อเรื่องของแหล่งข้อมูลที่เป็นหนังสือ บทความต่าง ๆ จากวารสาร และรวมทั้งบทความจากฐานข้อมูลออนไลน์ 
          การกำหนดคำค้น โดยเริ่มจากการวิเคราะห์คำถามของเรื่องที่ต้องการค้นหาว่าประเด็นหลักอะไรและเรื่องที่เกี่ยวข้อง  เพื่อระบุคำสำคัญที่จะใช้เป็นคำค้น
โดยทั่วไปมักใช้คำนามเป็นประเด็นหลักของเรื่องที่ต้องการ ในส่วนของเรื่องที่เกี่ยวข้องจะเป็นส่วนที่ใช้จำกัดขอบเขตให้แคบลง
         การกำหนดคำที่ดีนั้นควรรู้จักปรับเปลี่ยนเพื่อให้การค้นหาประสบความสำเร็จโดยการกำหนดคำที่มีความหมายที่แคบกว่า และใช้คำค้น คำอื่นที่มีความหมายเหมือนกันในกรณีที่ใช้คำใดคำหนึ่งค้นหาแล้วไม่พบ
วิธีการสืบค้นจากคำหรือวลี
1. ป้อนคำ หรือวลีที่ต้องการค้นหาลงในช่อง “คำ หรือ วลี”
2. เลือกขอบเขตของข้อมูลที่ต้องการค้นหา เช่นชื่อผู้แต่ง หัวเรื่อง ชื่อเรื่อง เป็นต้น
3. เลือกฐานข้อมูลที่จะทำการค้นหา (ชนิดของฐานข้อมูล จะถูกกำหนดโดยห้องสมุด)
4. หลังจากนั้นคลิกที่ปุ่ม “ค้นหา” เพื่อทำการสืบค้น
         เมื่อทำการค้นหาข้อมูล ผลการสืบค้นจะแสดงให้ผู้ใช้ว่าพบคำ หรือวลีที่สืบค้นหรือไม่และถ้าพบ จะแสดงจำนวนที่พบออกมาด้วย
         กรณีที่ผู้ใช้ค้นหาคำมากกว่าหนึ่งคำ โดยใช้หน้าผลการสืบค้นจากคำหรือวลีเป็นหน้าในการสืบค้น คำหรือวลีที่ค้นจะไปปรากฏต่อท้ายในผลการสืบค้น เราสามารถนำคำที่เราสืบค้นไปแล้ว
ก่อนหน้ามาใช้ในการจำกัดเขตข้อมูลในการสืบค้นได้ การค้นหาแบบนี้จะมีวิธีการเช่นเดียวกับ “การสืบค้นจากหลายคำ”
           เทคนิคการใช้เครื่องหมายต่างๆ เพื่อเจาะจงการแสดงผลการสืบค้นดังนี้
  1. ใช้เครื่องหมายอัญประกาศ (“…….”) กับคำสองคำเพื่อกำหนดให้ค้นหาคำ ทั้งสองคำที่กำหนดในเครื่องหมาย
  2. ใช้เครื่องหมายบวก ( + ) หน้าคำที่ต้องการจะสืบค้นเพื่อกำหนดให้มีคำที่ระบุไว้ปรากฏอยู่
  3. เครื่องหมายลบ ( – ) หน้าคำที่ไม่ต้องการสืบค้น เพื่อไม่ให้มีคำที่ระบุไว้หน้าเครื่องหมายปรากฏอยู่
  4. ใช้  AND เชื่อมระหว่างคำ เพื่อให้ได้ผลการสืบค้นที่มีคำทั้งสองคำปรากฏอยู่
  5. ใช้ OR เชื่อมระหว่างคำเพื่อให้ได้ผลการสืบค้นที่มีคำใดคำหนึ่งปรากฏอยู่
           การสืบค้นต้องมีกลยุทธ์และวิธีการสืบค้นข้อมูลระบุความต้องการให้ชัดเจน ว่าต้องการสืบค้นเรื่องอะไร วิเคราะห์คำถามของเรื่องที่ต้องการสืบค้น ทราบคำใกล้เคียงและมีความเกี่ยวข้องกับคำที่ต้องการจะสืบค้น และเข้าใจวิธีการใช้เครื่องหมายเพื่อเจาะจงผลการสืบค้น
          กลยุทธ์การสืบค้นสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ด้วยคำสำคัญให้ประสบความสำเร็จ มีดังนี้
              1. แจงปัญหา/โจทย์/หัวข้อที่ต้องการสืบค้นเสียก่อน เช่น การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมเนื่องจากภาวะโลกร้อน
             2. วิเคราะห์โจทย์ เช่น ใคร วิธีการอย่างไร เพื่ออะไร
           3. แยกคำสำคัญ (keyword) ออกจากโจทย์ คำสำคัญควรจะเป็นคำนาม เนื่องจากระบบการสืบค้นของฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จะคล้ายกับดัชนี (index) ที่ใช้ในหนังสือ จากตัวอย่างในข้อ 1. อาจจะแยกคำสำคัญมาได้คือ ภาวะโลกร้อน และ สิ่งแวดล้อม จากนั้นนำคำสำคัญที่ได้ไปแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วยเครื่องมือแปลภาษาในเว็บไซต์ google หรือเว็บไซต์ lexitron ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ (http://lexitron.nectec.or.th) ก็จะได้ “Global warming” And “Environment”
         นอกจากนี้ ควรใช้คำเหมือน คำคล้ายหรือคำที่มาจากรากศัพท์เดียวกันในการสืบค้น เช่น ผู้ชายอาจจะใช้ได้ทั้ง man และ male โดยคำคล้ายนั้นสามารถหาได้จากพจนานุกรมศัพท์สัมพันธ์ (Thesaurus) ที่มีทั้งแบบตัวเล่มและแบบออนไลน์
        4.เลือกแหล่งข้อมูล หรือฐานข้อมูลให้สอดคล้องกับข้อมูลที่ต้องการ ดังนี้
         กลุ่มสหสาขาวิชา เช่น ProQuest Dissertations & Theses, H.W.Wilson, SpringerLink, Web of Science
        กลุ่มสังคมศาสตร์ เช่น Emerald, ProQuest ABI/INFORM
       กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น ACM, ACS, IEEE
      5. เลือกใช้เทคนิคและวิธีสืบค้น เช่น การใช้เครื่องหมายต่าง ๆ อาทิ * $ “…….” ? รวมทั้งการสร้างเงื่อนไขด้วยคำเชื่อม AND, OR, NOT ให้สอดคล้องกับข้อมูลที่ต้องการ
             ผู้ที่ให้บริการช่วยการสืบค้นจะประสบความสำเร็จได้ ต้องเป็นผู้มีไหวพริบ เป็นนักอ่านติดตามข่าวสารข้อมูลทุกวัน มีการพัฒนาตนเองด้วยการเข้ารับการฝึกอบรมการสืบค้นฐานข้อมูลใหม่ๆ อยู่เสมอ  เพื่อช่วยให้ทักษะในการสืบค้นดีขึ้น  และควรมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากการให้บริการสืบค้น  และนำปัญหามาปรับปรุงแก้ไข  เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการให้บริการ ที่มีประสิทธิภาพ

บรรณานุกรม

คณาจารย์ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์. (2548).  ทักษะการรู้สารสนเทศ. กรุงเทพฯ : คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

http://www.cpc.ac.th/library/index.  สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธุ์ 2555

มหาวิทยาลัยขอนแก่น .สำนักวิทยบริการ (2555) เทคนิคการสืบค้นข้อมูล. สืบค้นจาก http://lib.20.kku.ac.th สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2555

สรัญญา. (2556) กลยุทธ์การสืบค้นสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์. สืบค้นจาก http://art.skru.ac.th/arc สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2556

ฝ่ายห้องสมุดวิทยาเขตบางนา
ชุมชน “Bangna Variety”

Leave a Reply