คำสำคัญ สำคัญไฉน ?
กลุ่ม ค คน ค้นคำ (ชุมชนBangna variety)
คำสำคัญ (Keywords) หมายถึง คำที่กำหนดขึ้นมาเพื่อใช้แทนเนื้อหาของบทความวารสาร ซึ่งต้องเป็นคำที่สั้นกะทัดรัด ได้ใจความ มีความหมาย เป็นคำนามหรือเป็นศัพท์เฉพาะ ที่กำหนดไว้เพื่อใช้ค้นหาข้อมูลบทความวารสารด้วยคำสำคัญ หรือ Keywords เป็นการค้นหาบทความวารสาร โดยใช้คำที่ปรากฏอยู่ในชื่อเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นบริเวณต้นเรื่อง กลางเรื่องหรือท้ายเรื่อง (ทั้งนี้ยกเว้นคำบางคำ เช่น เป็น, ที่, ซึ่ง,อัน,and, from, the, this, what ฯลฯ) ซึ่งการค้นแบบนี้ เหมาะสำหรับใช้ในกรณีที่ไม่ทราบชื่อบทความวารสารที่แน่ชัด หรือไม่ทราบหัวเรื่อง (สำนักวิทยบริการมหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2555: ออนไลน์)
สรุปได้ว่า คำสำคัญ (Keywords) ที่กำหนดไว้เพื่อสืบค้นบทความวารสาร ต้องเป็นคำ หรือวลีที่เลือกมา เพื่อใช้แทนชื่อเรื่องที่ต้องการค้นหา โดยทั่วไปแล้ว คำสำคัญจะมีลักษณะที่สั้น กะทัดรัด ได้ใจความ มีความหมาย เป็นคำนาม หรืออาจเป็นศัพท์เฉพาะของแต่ละสาขาวิชาก็ได้
วัตถุประสงค์ของการกำหนดคำสำคัญ
การกำหนดคำสำคัญ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้ง่ายขึ้น เพราะระบบจะทำการค้นหาคำที่ปรากฏอยู่ในชื่อเรื่อง ไม่ว่าจะอยู่ต้นเรื่อง กลางเรื่อง หรือท้ายเรื่อง
หลักเกณฑ์การกำหนดคำสำคัญ การกำหนดคำสำคัญ มีหลักในการเลือกดังนี้
1. เป็นคำ หรือวลี ที่ไม่อาจใช้เป็นหัวเรื่องได้ แต่มีความสัมพันธ์กับชื่อเรื่องของบทความ หรือเป็นคำที่มีอยู่ในเนื้อหาของชื่อเรื่องแต่ไม่สามารถกำหนดเป็นหัวเรื่องได้เช่น บทความวารสารชื่อ ค็อกเน็กซ์ผู้นำทางด้านเทคโนโลยีแมชชิ่นวิชั่น ในที่นี้มีคำที่สามารถนำมาใช้เป็นคำสำคัญได้ 2 คำ คือ เทคโนโลยี และ แขนกล ซึ่งเป็นคำที่ปรากฏอยู่ในเนื้อหาของบทความวารสาร
2. เป็นคำที่ตัดตอนมาจากชื่อเรื่องของบทความ เช่น บทความชื่อ ” กฎหมายส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทย” ในที่นี้จะได้คำสำคัญ 3 คำ คือ กฎหมาย, คุณภาพชีวิต และ ผู้สูงอายุ
3. บรรณารักษ์บางท่านใช้คำศัพท์ที่เป็นคำใหม่ๆ ที่ปรากฏในอยู่ในเนื้อหาของบทความ ส่วนใหญ่จะเป็นบทความในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น คลาวด์คอมพิวติ้ง , เอาท์ซอร์สซิ่ง เป็นต้น
ประโยชน์ของคำสำคัญ
1. ช่วยให้สืบค้นข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น ในกรณีที่ไม่ทราบชื่อเรื่องของบทความวารสาร
2. ช่วยให้ได้ข้อมูลตรงตามความต้องการ เพียงทราบคำที่จะใช้ในการสืบค้นบทความที่ต้องการ
3. ช่วยให้การค้นหาบทความวารสารได้ข้อมูลครบถ้วน และมีหลากหลายมากขึ้น
ดังนั้น ถ้าบรรณารักษ์รู้วิธีการกำหนดคำสำคัญได้ถูกต้อง และเลือกใช้คำที่เหมาะสม จะช่วยให้ผู้ใช้ห้องสมุดค้นหาข้อมูลจากบทความวารสารได้อย่างรวดเร็ว ตรงตามความต้องการ และยังช่วยเพิ่มโอกาสในการค้นหาเนื้อหาของบทความที่เชื่อมโยงกันได้มากยิ่งขึ้น ลดปัญหาการค้นหาข้อมูลไม่พบลงได้
บรรณานุกรม
การสืบค้นข้อมูล. 2555. สืบค้นจากhttp://portal.in.th/inter- may/pages/2380/ (ค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2555)
จตุพร ขวัญเมือง. 2538 การสร้างดรรชนีคำสำคัญจากชื่อบทความในวารสารภาษาไทยสาขาเศรษฐศาสตร์ด้วย
โปรแกรม Mini-MicroCDS/ISIS. กรุงเทพฯ : สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 2555. การค้นหาด้วยคำค้น สืบค้นจาก http://lib20.kku.ac.th/infoliteracy/opac_journal (สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2555)
ฝ่ายห้องสมุดวิทยาเขตบางนา
ชุมชน “Bangna Variety”
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.